4 สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับการแบ่งมรดก - Befin Academy

4 สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับการแบ่งมรดก

เมื่อจะต้องเริ่ม “จัดการมรดก” นั่นหมายความว่าต้องมีคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตลงแล้ว แม้ว่าผู้เสียชีวิตนั้นจะมีคู่สมรส บุตร และญาติพี่น้องที่จะต้องเป็นผู้รับมรดกตกทอดอยู่แล้วก็ตาม ในการจัดการมรดกนั้นก็มีขั้นตอนสำคัญๆ เพื่อให้การจัดการทรัพย์สินเป็นไปอย่างถูกต้องและโปร่งใส วันนี้ Befin Academy นำความรู้ ในหัวข้อ “4 สิ่งที่ต้องรู้ ก่อนจัดการมรดก” เบื้องต้นมาฝาก มาดูกันว่าต้องรู้อะไรบ้าง

1. ต้องมีใบมรณบัตร

ใบมรณบัตร เป็นสิ่งที่ยืนยันและแสดงถึงสาเหตุการเสียชีวิตของบุคคลนั้นๆ หากไม่มีจะไม่สามารถจัดการมรดกได้ ใบมรณบัตรเป็นเอกสารสำคัญประกอบการขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก หากไม่มีใบมรณบัตรก็จะไม่สามารถขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกได้ ส่งผลให้ทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตจะยังอยู่ในกองมรดกไม่สามารถโอน ถอน ขาย หรือเปลี่ยนแปลงชื่อเป็นของผู้อื่นได้ จนกว่าการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกจะเสร็จสิ้น นอกจากนี้ ใบมรณบัตรยังสามารถใช้เรียกร้องสินไหมมรณกรรม กรณีที่ผู้เสียชีวิตได้มีการซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตไว้

2. มีพินัยกรรมหรือไม่

หากผู้เสียชีวิตเคยนทำพินัยกรรมไว้ ก็พอจะทราบได้ว่าทรัพย์สินต่างๆ ที่มี มีอะไรบ้าง จะส่งมอบให้ใคร โดยให้ใครเป็นผู้จัดการมรดก ในกรณีที่ไม่มีพินัยกรรมก็จะต้องขออำนาจศาลในการขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก แล้วจึงจะดำเนินการต่อได้

3. ต้องรวบรวมและทำบัญชีทรัพย์สิน

รวบรวมและทำบัญชีทรัพย์สินที่เป็นชื่อของผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นบัญชีออมทรัพย์ บัญชีเงินฝาก บัญชีลงทุน/หุ้น ตราสารหนี้ โฉนดที่ดิน หรือแม้กระทั่งทะเบียนรถยนต์ จะได้รู้ว่าผู้ที่เสียชีวิตมีอะไรบ้างเพื่อนำไปจัดการทรัพย์สินต่อไป

4. ยื่นขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก

การขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกมี 2 กรณี คือกรณีที่มีพินัยกรรมและกรณีที่ไม่มีพินัยกรรม

– กรณีที่มีพินัยกรรม สามารถยื่นขอจัดการมรดกแบบมีพินัยกรรมได้เลยโดยแนบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง โครงสร้างครอบครัว (Family Tree) และระบุชื่อว่าใครเป็นผู้จัดการมรดก

– กรณีที่ไม่มีพินัยกรรมก็ทำเช่นเดียวกัน แต่ที่สำคัญในส่วนนี้คือต้องมีโครงสร้างครอบครัว เพื่อจะได้ทราบถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวของผู้เสียชีวิตว่ามีคู่สมรสที่จดทะเบียนหรือไม่ มีบุตรหรือไม่ รวมทั้งเครือญาติที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตตามลำดับชั้น เพื่อพิจารณาผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกตามสิทธิทายาทโดยธรรมทั้ง 6 ลำดับชั้น

หากมีข้อมูลทั้งหมดครบเรียบร้อยแล้วให้ทำเรื่องยื่นต่อศาล ศาลจะดำเนินการวิเคราะห์และนัดไต่สวน จากนั้นจะให้สิทธิ์คนในครอบครัวคนใดคนหนึ่ง หรืออาจะมากกว่า 1 คนร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดก หลังจากขั้นตอนการไต่สวนเสร็จเรียบร้อยแล้วภายใน 30 วัน ต้องประกาศสู่สาธารณะว่าใครเป็นผู้จัดการมรดกของผู้เสียชีวิต หลังจากนั้น 30 วัน หากไม่มีใครโต้แย้ง ผู้ร้องสามารถขอคัดสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก พร้อมหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด และสามารถนำเอกสารชุดนี้ไปทำธุรกรรมต่อไปได้